คู่มือ! ทางลัดเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ซักผ้า

189646 จำนวนผู้เข้าชม  | 

care labels laundry symbol

คู่มือ! ทางลัดเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ซักผ้า

 

คู่มือเช็คความหมายของ “สัญลักษณ์ซักผ้า” บนป้ายเสื้อ ช่วยให้คุณซักผ้าแบบถูกวิธี เพื่อยืดอายุเสื้อตัวโปรดให้อยู่กับคุณไปนานๆ ไม่เสียรูปทรง พร้อมทริคการสังเกต อย่าเพิ่งโยนเสื้อผ้าทุกตัวรวมกันในเครื่องซัก จนกว่าคุณจะได้อ่านบทความนี้

 

ทำไมต้องมีสัญลักษณ์ซักผ้า ?

       น้อยครั้งที่เราจะอ่านสัญลักษณ์ซักผ้าสากลบนป้ายเสื้อ (Care label) ที่นอกจากจะบอกไซส์แล้วยังมีไว้เพื่อให้ข้อมูลว่าเสื้อผ้าตัวนี้ทอมาจากเส้นใยประเภทไหนควรซักที่อุณหภูมิเท่าไรและซักอย่างไรจึงจะเหมาะกับชนิดผ้าแต่ละแบบเพื่อป้องกันการซักพลาดจนทำให้เสื้อผ้าเสียหายจึงเป็นเหมือนคู่มือที่ช่วยยืดอายุขัยของเสื้อผ้าเรารวมทั้งเป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อเพราะเสื้อผ้าบางชิ้นอาจมีค่าใช้จ่ายในการรักษาทำความสะอาดสูง เช่น เสื้อผ้าที่ระบุว่าต้องซักแห้งเท่านั้นหากเราไม่สามารถรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ care labels ก็จะช่วยเราได้อย่างมาก

 

สัญลักษณ์ซักผ้า laundry symbol

 

สัญลักษณ์ซักผ้า 6 ประเภท 

      กลุ่มสัญลักษณ์ซักผ้าถูกแยกตามขั้นตอนต่างๆ ออกเป็น 6 ประเภท เรียงตั้งแต่การซัก การฟอก การซักแห้ง การปั่นแห้งหรืออบแห้ง การตาก ไปจนถึงการรีด ซึ่งบางสัญลักษณ์จะมีรายละเอียดต่างกันไปตามโซนทวีปและแบรนด์เสื้อผ้า เช่น แบรนด์อเมริกาใช้จุดกลมสีดำแทนอุณหภูมิน้ำ ส่วนแบรนด์ยุโรปและแบรนด์เอเชีย (จีน ญี่ปุ่น) ใช้ตัวเลขบอกอุณหภูมิแทน

 

       1.การซัก

wash symbol

       โดยปกติ สัญลักษณ์การซักเครื่องจะเป็นรูปกะละมังมีน้ำอยู่ภายใน ซึ่งหากมีตัวเลขอุณหภูมิในกะละมังด้วย แสดงว่าเราควรซักด้วยน้ำที่อุณหภูมิ 30 ํC หรือต่ำกว่านั้น  และถ้าตัวเลขเปลี่ยน เราก็ขยับอุณหภูมิเรื่อยๆ ตามตัวเลขที่ระบุในรูปกะละมัง แต่จะสัญลักษณ์สไตล์อเมริกาจะมีความพิเศษขึ้นมาและอ่านยากกว่าปกติเล็กน้อย เพราะใช้จุดกลมๆ แทนตัวเลขอุณหภูมิน้ำ โดยมีความหมายตามรายละเอียดข้างล่างนี้

1 จุด คือ 30  ํC 
2 จุด คือ 40  ํC
3 จุด คือ 50  ํC
4 จุด คือ 60  ํC
5 จุด คือ 70  ํC
6 จุด คือ 95  ํC

ซักเครื่ิอง

        นอกจากเรื่องอุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมกับผ้าแต่ละชิ้นแล้ว เรายังต้องสังเกตด้วยว่าควรซักในโหมดใด โดยสังเกตจาก ขีดแนวนอนใต้กะละมัง 

  • ไม่มีขีดใต้กะละมัง = ซักเครื่อง โหมดซักทั่วไป (อุณหภูมิน้ำ 50 - 60 ํC)
     : สามารถซักได้ในน้ำร้อน รอบหมุนเร็ว กำจัดกลิ่นเหม็น เหมาะสำหรับการซักผ้าขาว ผ้าฝ้าย (cotton)
  • 1 ขีดใต้กะละมัง = ซักเครื่อง โหมด Permanent press (อุณหภูมิน้ำ 30 - 40 ํC)
    : ซักในน้ำอุ่นและล้างด้วยน้ำเย็น รอบหมุนปานกลาง เหมาะสำหรับผ้าสี ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าที่ไม่ต้องรีดหรือรีดสำเร็จแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดรอยยับ
  • 2 ขีดใต้กะละมัง = ซักเครื่อง โหมดถนอมผ้า (อุณหภูมิน้ำ 18 - 24 ํC)
    : ซักในน้ำเย็น รอบหมุนไม่รุนแรง ถนอมผ้า เหมาะสำหรับผ้าที่บอบบาง เช่น ลินิน คอตตอนที่ผสมใยสังเคราะห์ (cotton blend) dry fit ผ้าใยขนสัตว์

 

       ตัวอย่าง หากเห็นสัญลักษณ์ผสมกันอยู่ในรูปแบบเดียวกับรูปข้างล่างนี้ แสดงว่า คุณต้องซักด้วยเครื่องในโหมดถนอมผ้า อุณหภูมิน้ำไม่เกิน 40 ํC

ถนอมผ้า delicated

 

 ซักมือ    สัญลักษณ์รูปมือเหนือกะละมัง คือ ควรซักผ้าด้วยมือ ซึ่งเป็นการซักที่นุ่มนวลที่สุด สัญลักษณ์สุดท้ายในหมวดซัก คือ รูปกากบาททับกะละมัง

 

สัญลักษณ์ห้ามซัก
หมายถึง ห้ามซักเด็ดขาด

 

_______________________________________________________________________________________________________________

ทริคปกป้องมือของคุณ คือ ควรใช้ผงซักฟอกสำหรับซักมือเท่านั้น เพราะผงหรือน้ำยาซักผ้าที่ใช้สำหรับเครื่องซักนั้น มีฤทธิ์แรงกว่าชนิดซักมือ หากนำมาใช้อาจมีอาการปวดร้อนแสบลอกได้ หรือลดความเสี่ยงนี้ได้ ด้วยการใช้น้ำยาซักผ้าจากธรรมชาติ ที่รองรับการซักมือและซักเครื่อง โดยไม่ทำร้ายผิวของเรา 

 _______________________________________________________________________________________________________________

 

2.ฟอกขาว

สารฟอกขาวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

  1. คลอรีน บลีช (Chlorine Bleach) : เหมาะกับการซักผ้าขาวที่เป็นผ้าฝ้ายและผ้าลินิน เพราะสามารถขจัดคราบหนักฝังแน่นสูง ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี ฟอกผ้าให้ขาวสว่างสดใส จึง แต่ไม่เหมาะที่จะใช้กับผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ และผ้าไนลอน เพราะจะทำให้เส้นใยเนื้อผ้าเสียหายได้
  2. ออกซิเจน บลีช (Oxygen Bleach) : เหมาะกับการฟอกทำความสะอาดผ้าสี เพราะสามารถขจัดคราบเปื้อนทั่วๆ ไป ทำให้ผ้าสีสดใสเหมือนใหม่ 

ฟอกขาว bleach

  • รูปสามเหลี่ยมว่างเปล่า : สามารถใช้สารฟอกขาวชนิดใดก็ได้
  • รูปสามเหลี่ยมมีขีดแนวทแยง 2 เส้นภายใน : ห้ามใช้สารฟอกที่มีคลอรีนเป็นส่วนผสม
  • รูปสามเหลี่ยมมีอักษร CL ภายใน : สามารถใช้สารฟอกขาวที่มีคลอรีนเป็นส่วนผสมได้
  • รูปสามเหลี่ยมมีกากบาททับ :  ห้ามใช้สารฟอกขาวเด็ดขาด

 

_________________________________________________________________________________________________________________

ทริค ใช้น้ำยาฟอกให้ตรงกับชนิดของผ้าตามฉลากหน้าขวด เช่น น้ำยาฟอกผ้าขาวใช้ได้แค่กับผ้าขาว หากนำไปใช้กับผ้าสีจะทำให้ผ้าด่าง น้ำยาฟอกผ้าสีใช้ได้แค่กับผ้าสี หากใช้กับผ้าขาวอาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

_________________________________________________________________________________________________________________

 

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังในการใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำตามฉลากอย่างเคร่งครัด เพราะสารฟอกแต่ละขวดบรรจุสารเคมีอันตรายที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ถ้าไม่ระวังอาจทำให้ผ้าเสียหายได้ หรือหากผ้าที่สกปรกและมีคราบหนักของคุณไม่เหมาะกับการใช้น้ำยาฟอก เราแนะนำให้ขยี้ด้วยมือ เพื่อกำจัดคราบเฉพาะจุดก่อน แล้วจึงนำไปซักเครื่องหรือซักมือตามที่ฉลากระบุ

 

3.ซักแห้ง

       ซักแห้ง หมายถึง การซักทำความสะอาดเสื้อผ้าโดยไม่ใช้ผงซักฟอกหรือน้ำเป็นตัวทำละลาย แต่ซักด้วยน้ำยาหรือน้ำมันพิเศษ เพอร์คลอโรเอทิลีน (Perchloroethylene) ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่น้อยมากๆ ไปจนถึงไม่มีเลย จึงช่วยถนอมใยผ้าได้ และควรซักกับเครื่องซักแห้งโดยเฉพาะ  ไม่ควรซักด้วยมือเด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายต่อผิว

ซักแห้ง dry wash


  • รูปวงกลม : ซักแห้งเท่านั้น
  • รูปวงกลมมีตัวอักษร A ภายใน : ซักแห้งได้ด้วยน้ำยาทุกชนิด
  • รูปวงกลมมีตัวอักษร P ภายใน : ใช้น้ำยาซักแห้งได้ทุกชนิด ยกเว้นไตรคลอโรเอทธิลีน ซึ่งเป็นสารทำความสะอาดที่มักใช้ในอุตสาหกรรมโรงงาน
  • รูปวงกลมมีตัวอักษร F ภายใน : ใช้น้ำยาซักแห้งชนิดสารละลายปิโตรเลียมเท่านั้น
  • รูปวงกลมมีกากบาททับ : ห้ามซักแห้งโดยเด็ดขาด

 

4.อบแห้ง

       ร้านซักอบแห้ง 24 ชม. มีอยู่แทบทุกมุมเมือง ด้วยความสะดวกรวดเร็วในการซัก ไม่เสียเวลาตาก และยิ่งถ้าเราต้องอบแห้งเสื้อผ้าบ่อยๆ ยิ่งต้องใส่ใจเรื่องชนิดของผ้าให้มากขึ้น เพราะเคยมีกรณีไฟไหม้เครื่องอบแห้งมาแล้ว สาเหตุจากการอบผ้าที่ทนความร้อนสูงไม่ได้หรือไม่เหมาะกับการอบ

อบแห้ง tumble dry

สัญลักษณ์สากลในการอบแห้ง 
จะเห็นได้ว่ามีการใช้จุดทึบกลม เป็นตัวกำหนดอุณหภูมิสูง กลาง ต่ำ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • รูปสี่เหลี่ยม มีวงกลมภายใน : สามารถอบแห้ง ด้วยอุณหภูมิใดก็ได้
  • รูปสี่เหลี่ยม มีวงกลมสีดำภายใน : อบผ้าแบบเป่าลม โดยไม่ใช้ความร้อน
  • รูปสี่เหลี่ยม มีวงกลมภายใน พร้อมจุด 1 จุด : อบแห้ง ด้วยระดับความร้อนต่ำ หรือประมาณ 60  ํC
  • รูปสี่เหลี่ยม มีวงกลมภายใน พร้อมจุด 2 จุด : อบแห้ง ด้วยระดับความร้อนปานกลาง หรือประมาณ 70  ํC
  • รูปสี่เหลี่ยม มีวงกลมภายใน พร้อมจุด 3 จุด : อบแห้ง ด้วยระดับความร้อนสูง หรือประมาณ 80  ํC
  • รูปสี่เหลี่ยม มีวงกลมภายใน พร้อมขีดแนวนอนข้างล่าง 1 ขีด : อบแห้งอุณหภูมิใดก็ได้ ด้วยโหมด Permanent press ที่เหมาะกับผ้าที่ไม่ต้องรีดหรือรีดสำเร็จมาแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดรอยยับ
  • รูปสี่เหลี่ยม มีวงกลมภายใน พร้อมขีดแนวนอนข้างล่าง 2 ขีด : อบแห้งอุณหภูมิใดก็ได้ ด้วยโหมดถนอมผ้า 
  • รูปสี่เหลี่ยม มีวงกลมภายใน ถูกกากบาททับ : ห้ามอบแห้งเด็ดขาด

 

____________________________________________________________________________________________________________________

ทริค ใส่แผ่นอบผ้า (Dryer Sheet) ลงไปในเครื่องอบด้วย จะช่วยให้ผ้าของเราหอมนานและช่วยไม่ให้ผ้าแห้งกรอบหลังการอบแห้ง
____________________________________________________________________________________________________________________

 

5.ตาก 

       ส่วนมากเราจะห้อยไม้แขวนแล้วตาก หรือไม่ก็พาดไว้บนราว ซึ่งจะหลายๆครั้งก้ทำให้เสื้อผ้าของเราเสียรูปทรง หรือเป็นรอยไม้แขวนเสื้อบริเวณไหล่ได้ สามารถเลี่ยงปัญหานี้ได้ ด้วยการอ่านความหมายของแต่ละสัญลักษณ์ และนำไปใช้กับเสื้อผ้าของคุณเอง

ตากผ้า drying

 

  • รูปสี่เหลี่ยม : ตากให้แห้งด้วยวิธีใดก็ได้
  • รูปสี่เหลี่ยม มีเส้นครึ่งวงกลมมุมบน / รูปสี่เหลี่ยม ภายในมีขีดแนวตั้ง 1 เส้น : แขวนตากให้แห้ง
  • รูปสี่เหลี่ยม ภายในมีขีดแนวตั้ง 2-3 ขีด ตากโดยใช้ไม้หนีบ หนีบผ้าติดกับราวในขณะที่ผ้ายังเปียกและต้องจัดให้เรียบ พยายามให้มีรอยยับหรือรอยพับให้น้อยที่สุด
  • รูปสี่เหลี่ยม ภายในมีขีดแนวนอน 1 ขีด : พาดหรือวางตากในแนวราบ
  • รูปสี่เหลี่ยม ภายในมีเส้นแนวทแยงมุมซ้ายบน 2 ขีด : ตากด้วยวิธีใดก็ได้ แต่ควรตากในที่ร่มเท่านั้น เพราะถ้าเจอแสงแดดโดยตรงจะทำให้เนื้อผ้ากระด้าง เสียหายได้
  • รูปสี่เหลี่ยมถูกกากบาททับ : ห้ามตากเด็ดขาด (พบในเสื้อผ้าที่ห้ามซัก)
  • รูปผ้าที่ถูกบิด (มักพบในแบรนด์เสื้อผ้าจากญี่ปุ่น) : บิดผ้าอย่างทะนุถนอม ไม่ให้ผิดจากไปรูปทรงเดิมของเสื้อผ้า
  • รูปผ้าถูกบิด มีกากบาททับ : ห้ามบิดผ้าก่อนตากเด็ดขาด 

 

6.รีดผ้า 

       หลายบ้านใช้เตารีดไอน้ำรีดเสื้อผ้าทุกตัว แต่ก็มีบางตัวที่ไม่สามารถใช้เตารีดไอน้ำรีดได้เช่นกัน

รีดผ้า ironing

  • รูปเตารีด : รีดผ้าด้วยอุณหภูมิใดก็ได้
  • รูปเตารีด มีจุดกลม 1 จุด : รีดผ้าด้วยความร้อนต่ำ
  • รูปเตารีด มีจุดกลม 2 จุด : รีดผ้าด้วยความร้อนปานกลาง
  • รูปเตารีด มีจุดกลม 3 จุด : รีดผ้าด้วยความร้อนสูง
  • รูปเตารีด พร้อมขีดแนวทแยงข้างล่างถูกกากบาททับ : ห้ามใช้ไอน้ำในการรีด หรือห้ามรีดด้วยเตารีดไอน้ำเด็ดขาด 
  • รูปเตารีดถูกกากบาททับ : ห้ามรีดเด็ดขาด

 

 

ลองสำรวจเสื้อผ้าของคุณดูสิ

 

        เมื่อคุณเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ซักผ้าทุกแบบไปแล้ว เราแนะนำให้คุณลองหยิบเสื้อผ้าของคุณออกมา และเริ่มดูแลไปทีละขั้นตอน พร้อมๆ กันกับสรุปของเราเลย ที่สำคัญอย่าลืมแยกผ้าสี ผ้าขาว และผ้าดำ พร้อมกลับด้านเสื้อผ้าก่อนซักทุกครั้ง เพราะคราบเหงื่อหรือคราบไขมันจากร่างกายที่ออกมาแนบกับเนื้อผ้าด้านใน จะกลายเป็นแหล่งเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย 

ดังนั้น การกลับด้านก่อนซักจึงสามารถปั่นเอาสิ่งสกปรกออกได้ง่ายกว่า เสื้อผ้าจึงสะอาดมากขึ้น

สามารถซื้อน้ำยาซักผ้าและน้ำยาปรับผ้านุ่ม เพื่อดูแลเสื้อผ้าของคุณให้มีอายุการใช้งานยาวนานได้ ที่นี่ เลย เราเชื่อว่าการดูแลเสื้อผ้าของคุณให้ดูเหมือนใหม่เสมอจะง่ายขึ้นมาทันที

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้